วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2556

ข้อแนะนำทั่วไปของการจัดค่ายคำสอนและการฟื้นฟูจิตใจเยาวชน


ข้อแนะนำเชิงหลักการทางเทววิทยา
1.    การออกแบบการจัดค่ายคำสอนและการฟื้นฟูจิตใจควรที่จะเป็นโอกาสให้เยาวชนได้เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพระเยซูเจ้า กิจกรรมต่างๆควรที่จะเน้นให้พวกเขาได้เป็นสานุศิษย์ที่ดีของพระองค์ในชุมชนที่พวกเขาสังกัด เช่น การเป็นสมาชิกหรือลูกวัดที่กระตือรือร้น การกล้าที่จะแสดงตนและประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์
2.    การจัดค่ายคำสอนและการฟื้นฟูจิตใจ เป็นพันธกิจด้านงานอภิบาลของพระศาสนจักร ซึ่งได้แก่ การประกาศข่าวดีหรือคำสอนของพระเยซูคริสต์ การให้การฝึกอบรมชุมชนคริสตชนให้เข้มแข็ง การเปิดโอกาสให้สมาชิกของพระศาสนจักรได้คิดไตร่ตรองถึงคำถามของชีวิตด้วยแสงสว่างจากคำสอนของพระเยซูเจ้า(พระคัมภีร์) จากคำอธิบายของพระศาสนจักร จากขนมธรรมเนียมประเพณี และโดยการท้าทายให้สมาชิกที่เข้าค่ายหรือการฟื้นฟูจิตใจให้ตอบสนองต่อคำสอนของพระเยซูคริสต์ด้วยความกระตือรือร้น
3.    เนื้อหาของคำสอนสำหรับเยาวชนควรนำมาจากคำสอนทางการของพระศาสนจักร
4.   การภาวนา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของพิธีกรรม การภาวนาเป็นหมู่คณะ และการภาวนาส่วนตัว เป็นหัวใจของการจัดค่ายและการฟื้นฟูจิตใจ การภาวนาเปิดโอกาสให้สมาชิกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเสริมสร้างความเชื่ออย่างต่อเนื่อง
5.    การเข้าค่ายและการฟื้นฟูจิตใจเยาวชนควรจัดพิธีกรรมต่างๆให้มีชีวิตชีวา แต่ต้องให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติของพิธีกรรมเองและข้อกำหนดของสังฆมณฑล ควรจัดให้ตรงตามเทศกาลของพิธีกรรม ให้เวลากับการรวมพิธีกรรม และการมีส่วนร่วมของสมาชิก

ข้อแนะนำเชิงปฏิบัติ
1.    การเข้าค่ายหรือการฟื้นฟูจิตใจควรให้โอกาสเยาวชนได้มีเวลาคิดทบทวนถึงประสบการณ์ชีวิตของตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกถึงความรักความภูมิใจในชีวิตของตนเอง สำนึกว่าชีวิตตนมีประโยชน์และมีความหมาย
2.    บรรยากาศควรที่จะเป็นการแสดงออกถึงการยอมรับกันและกัน การพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า และอิสรภาพ ควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่ใช้อารมณ์เข้าตัดสิน
3.    การเข้าค่ายและการฟื้นฟูจิตใจควรเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงออกและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่หลายหลากของแต่ละคน
4.   ควรคำนึงถึงมิติด้านจิตวิทยาของผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมใด ต้องดูความเหมาะสมของเพศ วัย ความปลอดภัย สุขภาวะ การพักผ่อน อาหารการกิน ฯลฯ
5.    การให้โอกาสเยาวชนได้แบ่งปันประสบการณ์คริสตชนของพวกเขาเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเยาวชนด้วยกัน เป็นการแสดงตนเป็นประจักษ์พยานต่อความเชื่อ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ที่ได้รับมาจากศีลล้างบาปและศีลกำลัง เป็นการทำหน้าที่ผู้ประกาศข่าวดีหรือธรรมทูตของพระเยซูคริสต์
6.  การเข้าค่ายและการฟื้นฟูจิตใจเป็นพันธกิจประการหนึ่งของกระบวนการถ่ายทอดความเชื่อของพระศาสนจักร ดังนั้น วัดแต่ละวัดควรจัดเตรียมและติดตามหลักจากที่สมาชิกของตนได้มาเข้าค่ายหรือการฟื้นฟูจิตใจ นี้เป็นพันธกิจสำคัญในส่วนของวัด

หลักสำหรับการจัดเนื้อหาและกระบวนการ
1.    ควรเริ่มต้นจากประสบการณ์ชีวิต เรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในชีวิตของเยาวชนจะต้องนำมาเชื่อมโยงและพิจารณาในหลักตามคำสอนของพระเยซูเจ้า
2.    การออกแบบและองค์ประกอบต่างๆของการเข้าค่ายและการฟื้นฟูฯ ควรพิจารณาตามพื้นฐานขั้นตอนการพัฒนาดังนี้
ก.      พัฒนาการด้านจิตใจของผู้เข้าค่ายและฟื้นฟูฯ
ข.      การพัฒนาด้านสังคม
ค.     การพัฒนาด้านสติปัญญา
ง.      การพัฒนาด้านศีลธรรม
จ.      การพัฒนาด้านความเชื่อ
3.    เนื้อหาควรเหมาะสมกับกลุ่มอายุของเยาวชนที่แตกต่างกัน เนื้อหาควรสอดคล้องกับหัวข้อของการเข้าค่ายฯหรือฟื้นฟูฯ
4.    กระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมกลุ่มต่างๆ เช่น การแบ่งปันในกลุ่มย่อย เกม กิจกรรมการเคลื่อนไหว ควรนำมาใช้เพื่อให้สมาชิกเกิดความตื่นตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้
5.    การใช้เรื่องเล่า การแบ่งปันความเชื่อ และการเป็นประจักษ์พยานชีวิตส่วนตัว ควรได้รับความเคารพในฐานะที่เป็นเครื่องมือสื่อให้เห็นถึงคำสอนที่มีชีวิต จับต้องได้
6.    กระบวนการในการนำเสนอคำสอนสำหรับเยาวชน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ คือ ประสบการณ์ หลักคำสอน การไตร่ตรอง และการปฏิบัติ

ข้อแนะนำสำหรับรายละเอียดบางประการเพื่อให้การเข้าค่ายและการฟื้นฟูบังเกิดผลดี
ด้านกายภาพ
·       นอนหลับอย่างเพียงพอ
·       พักผ่อนอย่างเพียงพอ
·       อาหารที่เหมาะสม
·       ให้อยู่กับธรรมชาติและกลางแจ้ง (ถ้าเป็นไปได้)

ด้านจิตใจ
·       การจัดพิธีกรรม อันดับแรกคือพิธีมิสซาฯ การรับศีลอภัยบาป การภาวนาส่วนรวม การภาวนาส่วนตัว การมีเวลาเงียบส่วนตัว การพิจารณามโนธรรม การอ่านพระคัมภีร์

ด้านจิตวิทยาและด้านสังคม
·       จัดให้มีเวลาส่วนตัวและส่วนรวมอย่างเหมาะสม
·       มีโอกาสได้ปรึกษาส่วนตัวกับผู้นำ
·       มีเวลาทบทวนชีวิตของตนเอง
·       มีการเสริมสร้างชีวิตหมู่คณะ
·       เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมและในชีวิตของชาวค่ายหรือการฟื้นฟูฯ
·       มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงออก
·       มีการนำเสนอความรู้ในรูปแบบต่างๆ
·       มีการอภิปรายและแบ่งปันประสบการณ์

กิจกรรมสนับสนุน                                 
·       จัดให้มีการเตรียมการจัดค่ายๆหรือฟื้นฟู เช่น การประชุม การฝึกอบรมผู้ร่วมงาน
·       มีกระบวนการติดตามผล
·       มีการประเมินผลทีมงานและผู้เข้าค่ายฯ
·       มีการฝึกอบรมทีมงาน รวมถึงการวางแผนและการจัดโปรแกรมต่างๆ


ขอให้ทุกคนสนุกกับงานคุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
ข้อมูลจาก
Ekstrom. (1991). Retreats. New Rochelle NY: Don Bosco Multimedia. pg. 116-117.


วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2556



ชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน 
การฟื้นฟูจิตใจครูคำสอนก่อนเข้ารับปริญญาบัตร
ในวันที่ 9 ธันวาคม 2012 ณ วิทยาลัยแสงธรรม

จุดประสงค์
ประสบการณ์การเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจนี้เปิดโอกาสให้ครูคำสอนได้ไตร่ตรอง หรือทบทวนชีวิตฝ่ายจิตของตนเองโดยใช้พระคัมภีร์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน ครูคำสอนจะได้ใช้พระคัมภีร์เพื่อช่วยให้พวกเขาได้เข้าใจซึ้งถึงวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับพระคริสต์เจ้าเพื่อที่จะได้ปฏิบัติพันธกิจของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเข้าเงียบครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
อุปกรณ์
o พระคัมภีร์สำหรับผู้นำและสมาชิกทุกคน
o เทียน
o โต๊ะและเก้าอี้(ถ้าจัดการเข้าเงียบในห้อง)
o เครื่องเล่น CD และแผ่นเสียงบทเพลงศักดิ์สิทธิ์
o ชีทเพลง
o ปากกาหรือดินสอ
o ใบงานให้สมาชิกแต่ละคน

ขั้นเตรียม
o จัดโต๊ะภาวนาโดยใช้ผ้าคลุมที่มีสีตามเทศกาล บนโต๊ะให้จัดพระคัมภีร์ เทียนคู่หนึ่ง และสิ่งของที่แต่ละคนจะใช้เพื่อการไตร่ตรองในกลุ่มของตน
o เตรียมบทเพลงบรรเลงเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการภาวนาเมื่อสมาชิกมาถึง
o เตรียมเครื่องดื่มหรือของว่างเล็กๆน้อยๆถ้าสมาชิกมาโดยตรงจากบ้านโดยที่ยังไม่มีอะไรรองท้องมาก่อน
o เตรียมพระคัมภีร์เป็นเล่มหรือคัดเลือกออกมาพิมพ์เป็นชีทเพื่อแจกสมาชิก และใบงานเพื่อการไตร่ตรอง

กำหนดการ
o การต้อนรับและภาวนาเปิด(10 นาที)
o การนำเสนอครั้งที่ 1 : ข้อแนะนำเพื่อการทำ Meditation (30 นาที)
o การนำเสนอครั้งที่ 2 : การไตร่ตรองเรื่องกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน (30 นาที)
o พัก(10 นาที)
o การนำเสนอครั้งที่ 3 : การไตร่ตรองเรื่องการเจริญเติบโตชีวิตฝ่ายจิตของแต่ละบุคคล (30 นาที)
o ภาวนาปิด (10 นาที)

การต้อนรับและการภาวนาเปิด (10 นาที)
ขณะที่ครูคำสอนเดินทางมาถึง ให้เชิญพวกเขาเข้าสู่ห้องเข้าเงียบ ซึ่งควรจัดให้เป็นแบบวงกลม เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้วให้มีการแนะนำตนเอง หรือพูดคุยสนทนาอย่างเป็นกันเองต่อกันและกัน เมื่อเห็นว่าถึงเวลาที่เหมาะสมแล้ว ให้ผู้นำเริ่มการเข้าเงียบดังนี้
ผู้นำ:  ขอบคุณทุกๆคนที่ได้ตอบรับการเชื้อเชิญให้มาเข้าเงียบพร้อมกันในวันนี้ บทบาทของครูแต่ละคนนั้น ได้รับการทรงเรียกจากพระเจ้าให้มาเป็น “ผู้ประกาศข่าวดีของพระเจ้า” หรือที่เราเรียกกันว่า “ครูคำสอน” ในช่วงเวลาสั้นๆนี้ เราจะได้มีโอกาสทบทวนความหมายของคำว่า “ผู้ประกาศของพระคริสต์” ซึ่งเราจะได้ทบทวนในเชิงลึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวของเราแต่ละคนกับพระเยซูเจ้า และจะได้มีโอกาสพูดคุยแบ่งปันความคิดเห็นต่อกันและกันถึงวิธีที่จะทำให้ตัวของเราแต่ละคนได้กลับไปทำหน้าที่หรือศาสนบริการที่พระเจ้ามอบหมายให้นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ให้เราเริ่มการเข้าเงียบของเราด้วยการภาวนา
เดชะพระนามพระบิดา . . . (ทุกคนทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขน)
ให้เราใช้เวลาเงียบๆสักครู่หนึ่งอยู่กับความรักของพระเจ้าที่ห้อมล้อมตัวของเราอยู่ในขณะนี้
(ให้ทุกคนสงบนิ่ง ผู้นำอาจจะเปิดเพลงบรรเลงเบาๆสร้างบรรยากาศที่ดีได้)
ให้จุดเทียนที่ได้จัดเตรียมไว้บนโต๊ะ จากนั้นให้ภาวนาดังต่อไปนี้
ผู้นำ:         เทียนที่ถูกจุดขึ้นนี้ เตือนใจเราทุกคนให้ระลึกถึงลิ้นไฟและความร้อนร้นในวันพระจิตเสด็จลงมา ซึ่งเราแต่ละคนได้ถูกจุดขึ้นในหัวใจของเราแต่ละคนขณะที่เราได้รับศีลล้างบาป ขอให้ความรักของพระจิตเจ้าช่วยเผาผลาญหัวใจของพวกลูกให้ร้อนร้นด้วยความปรารถนาที่จะเข้ามีส่วนร่วมในความรักของพระเจ้าและมีความรักต่อกันและกัน
ให้ขับร้องเพลงที่เหมาะสม 1 บทเพลง
……………………
เมื่อร้องเพลงเสร็จแล้ว ให้ภาวนาวอนขอดังนี้
ผู้นำ :  ให้เราร่วมใจกันภาวนา โดยถวายความตั้งใจและเอาจริงเอาจังต่อพระพักตร์พระเจ้า ผู้ทรงสัญญาว่าจะประทับอยู่กับและจะทรงสดับฟังคำภาวนาของ ขอให้เราภาวนาพร้อมกันว่า : “โปรดสดับฟังเถิดพระเจ้าข้า”
ทุกคนภาวนาพร้อมกัน : ลูกวางใจในพระองค์พระเจ้าข้า
ผู้นำ : ให้เราภาวนาเพื่อผู้ที่กำลังรับใช้พระเจ้าทั่วโลก ให้เราภาวนา
1. เพื่อครูคำสอนที่ต้องได้รับความทุกข์ยากลำบากในรูปแบบต่างๆ ให้เราภาวนา
2. เพื่อผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหงเพราะการกระทำหน้าที่ครูคำสอน ให้เราภาวนา
3. เพื่อนักเรียนและผู้ที่กำลังเรียนคำสอนทุกคน ให้เราภาวนา
4. เพื่อบุคคลที่กำลังตัดสินใจที่จะเข้ามาเรียนคำสอน ให้เราภาวนา
5. เพื่อผู้ใหญ่ทุกฐานันดรในพระศาสนจักร ให้เราภาวนา
6.  ให้เวลาเพื่อสมาชิกจะได้ร่วมถวายคำภาวนาพิเศษของแต่ละคน
ให้เราภาวนา ข้าแต่พระบิดาผู้ทรงพระทัยดี พวกลูกมาพร้อมใจกันในวันนี้ เพื่อวอนขอพระพรแห่งความรักและความซื่อสัตย์ ขอพระองค์โปรดส่งพระจิตของพระองค์ให้เสด็จเข้ามาใจจิตใจของลูก เพื่อให้ลูกสามารถปฏิบัติพันธกิจที่พระองค์ประทานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเถิด พวกลูกวอนขอทั้งนี้ในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า พระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย อาแมน

การนำเสนอ 1 : ข้อแนะนำเพื่อ Meditation (30 นาที)
ให้เริ่มการไตร่ตรองด้วยถ้อยคำเหล่านี้หรือในทำนองนี้
ผู้นำ  :  ในขณะนี้ เราได้นั่งรอบๆพระคัมภีร์ พระวาจาของพระเจ้า เรามาจากสถานที่ที่แตกต่างกัน แต่ละคนมีความรักต่อพระเยซูเจ้าในรูปแบบที่เหมือนกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีเหมือนกัน หรือมีร่วมกันก็คือ ไม่ว่าเราจะมีมูลเหตุหรือที่ไปที่มาอย่างไร เราก็ต่างได้รับพระพรจากพระจิตเจ้า ที่ทรงเชื้อเชิญเราให้มาเป็นครูคำสอนในปีนี้
พระเยซูเจ้าทรงรวบรวมบุคคลต่างๆให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงมอบหมายพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ให้พวกเขา ทรงส่งพวกเขาให้ออกไปทั่วโลก และทรงสัญญาว่าจะประทับอยู่กับพวกเขาตลอดไป ให้เราได้รับฟังเหตุการณ์นี้อีกครั้งหนึ่ง และรอฟังว่าพระเยซูเจ้าจะตรัสอะไรกับเราในวันนี้บ้าง
ให้อ่าน มัทธิว 28:16-20. โดยให้หยุดเป็นระยะๆ เมื่อจบแล้วให้เริ่มการรำพึงตามนี้อย่างช้าๆ ในแต่ละคำถามให้หยุดนิ่งสั้นๆชั่วขณะ เพื่อให้ครูคำสอนได้มีเวลาไตร่ตรอง
ให้เราหลับตาและสร้างจินตนาการโดยนำตัวของท่านเองเข้าไปอยู่ร่วมกับสาวก “สิบเอ็ดคน” ในขณะที่กำลังเดินทางไปยังภูเขา ในแคว้นคาลิลี เนื่องจากพระเยซูเจ้าทรงวอนขอให้ท่านทุกคนเข้ามาเพื่อพระองค์จะได้กล่าวคำอำลา.....ลองคิดดูซิว่าท่านกำลังเดินไปกับใครบ้าง
มีใครเดินเคียงข้างท่านบ้าง.....ระหว่าที่เดินทางอยู่นั้น ท่านได้ยินเสียงอะไรบ้าง...ท่านเห็นใครบ้างในระหว่างทาง....
อากาศในวันนี้เป็นอย่างไร ร้อนไหม....เพื่อนสาวกที่เดินมาด้วยนั้นรู้สึกอย่างไรต่อการมาเฝ้าพระเยซูเจ้าในครั้งนี้.....แล้วตัวท่านเองล่ะคิดอย่างไรกับการมาเฝ้าพระเยซูเจ้าในครั้งนี้
ที่สุดท่านกับเพื่อนก็ได้เดินทางมาถึง พระเยซูเจ้ากำลังรอคอยท่านอยู่ที่นั้น...ท่านลองฟังเสียงของเพื่อนๆที่ทักทายพระองค์ดูซิ...พวกเขาทักทายพระองค์อย่างไร....แล้วพระองค์ทรงยืนขึ้นเดินมาหาพวกท่าน...พระองค์มายืนต่อหน้าท่านแล้ว...พระองค์สัมผัสไหล่ของท่าน...ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง...
จากนั้น พระองค์ทรงกล่าวกับทุกๆคนว่า “พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และบนแผ่นดินให้แก่เรา เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างให้เขาเดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้ไว้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ”
ดู...เปโตรและยอห์นซิ พวกเขาทั้งสองมีปฏิกิริยาต่อพระบัญชาของพระเยซูเจ้าอย่างไร
เมื่อท่านมองไปที่พระเยซูเจ้า...พระองค์กำลังจ้องมองท่านอยู่ ท่านเองได้ยินพระวาจาของพระองค์ที่ว่า “เราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไป” ท่านรู้สึกอย่างไร.......
คำพูดของพระองค์ “จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน” มีความหมายอย่างไรต่อตัวท่าน
จงใช้เวลานี้เพื่อพูดกับพระองค์บ้าง....ให้ท่านวอนขอความช่วยเหลือจากพระองค์เพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่ครูคำสอนได้อย่างดี ทั้งในเวลานี้และในปีต่อๆไป...ให้ท่านได้หยุดฟังเสียงของพระองค์ในใจของท่านสักครู่หนึ่ง            

ให้เวลาครูคำสอนเพื่อไตร่ตรองสักครู่หนึ่ง (5 นาที)
เมื่อเสร็จแล้ว ให้ทุกคนลืมตา
จากนั้นให้มีการแบ่งปันกันในกลุ่ม ซึ่งผู้นำอาจจะจัดแบ่งกลุ่มตามจำนวนของผู้เข้าร่วมการเข้าเงียบ ในการแบ่งกลุ่มเพื่อการแบ่งปันนั้น ควรจะมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 3-4 คน ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป
หัวข้อเพื่อการแบ่งปัน
o ขณะที่กำลังเดินขึ้นไปบนภูเขา ท่านคิดว่าท่านเป็นเหมือนสาวกคนไหน
o ขณะที่เดินอยู่นั้น ท่านเดินใกล้ใครมากที่สุด
o ท่านคุยกับสาวกคนนั้นในเรื่องอะไรบ้าง
o เมื่อพบพระเยซูเจ้าแล้ว ท่านรู้สึกอย่างไร และพระเยซูเจ้าได้พูดอะไรกับท่าน แล้วท่านเองอยากให้พระเยซูเจ้าพูดอะไรกับท่าน
o บรรดาอัครสาวกมีความรู้สึกอย่างไรต่อพระบัญชาของพระเยซูเจ้า
การนำเสนอ 2 : การไตร่ตรองเรื่องกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน (30 นาที)
ให้เริ่มการไตร่ตรองกระแสเรียกครูคำสอนด้วยการเกริ่นนำดังนี้
ผู้นำ  :  พระเยซูเจ้าทรงมีพระบัญชาให้เราแต่ละคนได้ออกไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของพระองค์ พระองค์ทรงสัญญาว่าจะอยู่กับเราตลอดไป พระองค์ประทานพระจิตเจ้าให้สถิตกับเราโดยผ่านทางศีลล้างบาปและศีลกำลัง พระเยซูเจ้าทรงหล่อเลี้ยงเราด้วยพระกายของพระองค์เองในศีลมหาสนิท พระองค์ทรงเรียกท่านแต่ละคนให้มาเป็นประจักษ์พยานของพระองค์ในหน้าที่การเป็นครูคำสอนในปีนี้
ท่านได้ตอบสอนต่อเสียงเรียกของพระองค์อย่างไร ท่านได้เตรียมตัวเพื่อการสอนคำสอนอย่างไร ท่านได้สำนึกตนอยู่เสมอว่า ท่านกำลังทำงานรับใช้พระเจ้า กระทำหน้าที่ในพระนามของพระองค์
เชิญชวนครูคำสอนให้ทำการไตร่ตรองกระแสเรียกการเป็นครูคำสอน จากใบงาน “ชีวิตจิตครูคำสอน” โดยเขียนตอบลงในใบงานที่แจกให้ ใช้เวลาเพื่อกิจกรรมนี้ 15 นาที เมื่อเสร็จแล้วให้สมาชิกแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดต่อกันและกัน
พัก (10 นาที)
การนำเสนอ 3 : การไตร่ตรองเรื่องการเจริญเติบโตชีวิตฝ่ายจิตส่วนบุคคล (30 นาที)
ให้เริ่มการไตร่ตรองด้วยการเกริ่นนำในทำนองนี้
ผู้นำ :  พวกเราได้คิดไตร่ตรองถึงกระแสเรียกการเป็นครูคำสอนของเราจากพระคัมภีร์แล้ว นอกจากนั้นเรายังได้ไตร่ตรองถึงชีวิตฝ่ายจิตของเราอีกด้วย ชีวิตฝ่ายจิตนี้แหละที่จะทำให้เราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นหรือที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ดังนั้นโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนพวกเราได้ใช้เวลาไตร่ตรอง “ชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน(2)” และอภิปรายกันแบ่งปันความรู้สึกนึกคิดต่อกันและกัน เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่กัน และยังเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ครูคำสอนของเราต่อไป
ให้ผู้นำ เชิญครูคำสอนได้ใช้เวลาไตร่ตรองจากใบงานที่แจกให้  ในขณะที่ทุกคนไตร่ตรองอยู่นั้น ผู้นำอาจจะเปิดเพลงบรรเลงเพื่อสร้างบรรยากาศได้
ภาวนาปิด (10 นาที)
ให้สรุปการเข้าเงียบด้วยบทภาวนาดังต่อไปนี้ (ให้หยุดในแต่ละประโยคเพื่อให้เวลาครูคำสอนเพื่อการไตร่ตรองด้วย)
ผู้นำ :  ก่อนที่เราจะจบการเข้าเงียบของเราในครั้งนี้ ให้เราได้ใช้เวลาอีกเล็กน้อยเพื่อประเมินตนเองถึงประโยชน์ของการใช้เวลาอยู่กับพระองค์ในเวลาสั้นๆนี้ .....ท่านได้เรียนรู้อะไรจากการเข้าเงียบในครั้งนี้บ้าง.....ท่านรู้สึกอย่างไรกับหน้าที่การเป็นครูคำสอนของท่าน....ท่านคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ชีวิตการเป็นครูคำสอนของท่านได้รับใช้พระเจ้าได้ดียิ่งๆขึ้น......
ให้เราได้วอนขอความช่วยเหลือและพละกำลังจากพระเจ้า เพื่อช่วยให้เราได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราด้วยความซื่อสัตย์และมีประสิทธิภาพ......(ให้เวลาเงียบสักครู่หนึ่ง)
ให้เลือกบทเพลงที่สร้างกำลังใจบทเพลงหนึ่งขับร้องพร้อมกัน
ผู้นำ :  ขอให้กลับไปด้วยพระพรขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้งานของเราบังเกิดผลตามน้ำพระทัยของพระองค์ ทั้งนี้โดยอาศัยพระหรรษทานจากองค์พระบิดาเจ้า ผู้ทรงดำรงชีพร่วมกับพระบุตรและพระจิต ตลอดนิรันดร อาแมน
ชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน(1)
การไตร่ตรองการทรงเรียกของพระเจ้าที่เชิญเราให้ร่วมงานกับพระองค์ในครูคำสอน
ชีวิตจิตของครูคำสอน : ความจำเป็นและลักษณะของชีวิตจิตสำหรับครูคำสอน
ครูคำสอนต้องมีชีวิตจิตลึกซึ้ง นั่นคือ พวกเขาต้องเจริญชีวิตอยู่ในพระจิต ซึ่งจะช่วยให้เขาฟื้นฟูตัวเองอย่างต่อเนื่องตามเอกลักษณ์เฉพาะของตนกระแสเรียกและงานธรรมทูตกระตุ้นให้ครูคำสอนต้องการมีชีวิตจิต เพราะฉะนั้น แรงจูงใจแบบใหม่และพิเศษคือ การเรียกไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์.......
ชีวิตจิตครูคำสอนเกี่ยวเนื่องอยากใกล้ชิดกับสถานภาพของเขาในฐานะฆราวาสแพร่ธรรม ทำให้เป็นผู้มีส่วนร่วมในระดับของเขาเอง ในการกระทำที่เยี่ยงประกาศก สงฆ์ และกษัตริย์ของพระคริสต์ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของกลุ่มฆราวาส ครูคำสอนเกี่ยวข้องกับโลก “ตามสภาพของแต่ละคน ข้อผูกมัดพิเศษที่จะใช้จิตตารมณ์แห่งพระวรสารในการจัดระเบียบสิ่งของชั่วคราวต่างๆ ให้กับความไพบูลย์และแพร่จิตตารมณ์ไปทั่วโลกด้วยวิธีนี้เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูคำสอนจึงเป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสต์ในขณะที่ส่งเสริมงานของโลกและทำงานของโลกได้”
(คู่มือครูคำสอน : GIUDE FOR CATECHISTS ข้อ 6)

คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
ฉันรู้สึกอย่างไรที่ได้รับเรียกให้มาเป็นครูคำสอนในปีนี้
ฉันได้เข้าร่วมการนมัสการพระเจ้าในพิธีกรรมและกิจกรรมต่างๆของพระศาสนจักรอย่างไร
ฉันได้เข้าร่วมพิธีมิสซาฯในวันอาทิตย์เป็นประจำหรือไม่
ฉันได้ตระหนักถึงถ้อยคำสุดท้ายในพิธีมิสซาฯที่ว่า “พิธีมิสซาของพระคุณจบแล้ว จงไปในสันติ” หรือ “พิธีมิสซาขอบพระคุณจบแล้ว จงปฏิบัติตามพระวาจาของพระเจ้าเถิด”
ฉันได้เตรียมตัวในการสอนคำสอนอย่างดีหรือไม่
ฉันควรเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้การสอนคำสอนดีขึ้นกว่าเดิม

ชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน(2)
การไตร่ตรองการทรงเรียกของพระเจ้าที่เชิญเราให้ร่วมงานกับพระองค์ในครูคำสอน
คุณลักษณะชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอน
ชีวิตฝ่ายจิตของครูคำสอนควรมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้
ความรักต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า พระบิดา พระบุตร และพระจิต รวมถึงผู้ศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
ดำรงชีวิตด้วยความเชื่อศรัทธาที่ถูกต้องและสม่ำเสมอ ด้วยการปฏิบัติตามคุณธรรมแห่งความรัก ความหวัง ความเพียรทน และด้วยความยินดี
จัดเวลาเพื่อการภาวนาส่วนตัว และอุทิศตนเพื่องานการประกาศข่าวดีของพระศาสนจักร
มีความร้อนร้นในการแพร่ธรรม ประกาศข่าวดีแห่งความเชื่อด้วยความกระตือรือร้น
เข้ามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในงานของวัด/โรงเรียนที่สังกัด โดยเฉพาะการเข้าร่วมในพิธีมิสซาขอบพระคุณพระเจ้า
มีความศรัทธาต่อพระแม่มารีย์ ซึ่งเป็นศิษย์คนแรกและรูปแบบของครูคำสอน และศรัทธาต่อศีลมหาสนิทซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตจิตครูคำสอน

คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
คุณลักษณะฝ่ายจิตที่ฉันมีโดดเด่นที่สุดคืออะไร และทำไมจึงคิดเช่นนั้น
คุณลักษณะใดที่ท้าทายให้ฉันต้องพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นในการทำงานต่อไป
ทำไมคุณลักษณะเหล่านี้จึงมีความสำคัญต่อการทำพันธกิจของครูคำสอน






การสอนคำสอนแบบ Active learning

ประสบการณ์เป็นครูที่ดีที่สุดของเรา การได้เดินทางไปแสวงบุญยังสถานที่แห่งหนึ่งแห่งใด จะทำให้ท่านไม่ลืมไปได้อย่างง่ายๆ เมื่อเทียบกับการได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับสถานที่นั้นเท่านั้น
เราส่วนใหญ่มักจะเรียนรู้แบบเป็นฝ่ายรับ(Passive) เช่น การนั่งฟังการบรรยายหรืออ่านตำราอยู่คนเดียว แต่ไม่ค่อยได้เรียนรู้แบบเป็นฝ่ายกระทำ เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงกับเรียนรู้ การเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ต่อไปนี้เป็นการเปรียบเทียบลักษณะการเรียนรู้ แบบ Passive Learning ซึ่งเป็นวิธีการที่เราคุ้นเคยกันมา กับ Active Learning ที่ครูคำสอนควรเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในงานคำสอนของเรา

การเรียนแบบ Passive Learning
การเรียนแบบ Active Learning
ผู้เรียนเริ่มต้นโดยการรับรู้เนื้อหา
ผู้เรียนเริ่มด้วยการแบ่งปันประสบการณ์
คำสอนเป็นผู้ให้ข้อมูล ผู้เรียนเป็นผู้รับข้อมูล
ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการค้นหาสิ่งที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ครูเป็นเพียงผู้นำและแหล่งข้อมูล เป็นผู้อำนวยความสะดวก
การบวนการเรียนเป็นแบบ Deductive คือเริ่มจากคำสอนหรือหลักการ และค่อยๆนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิต
การเรียนเป็นแบบ Inductive คือ เริ่มจากประสบการณ์เฉพาะเรื่องแล้วนำไปสู่หลักการที่สามารถนำไปใช้กับกรณีอื่นๆทั่วไป
บรรยากาศการเรียนเป็นไปตามลำดับ มีระเบียบ มีความเงียบ พลังงานของผู้เรียนถูกจำกัดไปกับการควบคุมตนเอง ผู้เรียนรู้สึกอึดอัดและต่อต้าน
บรรยากาศการเรียนจะดูอึกทึกวุ่นวาย แต่ควบคุมได้ พลังงานของผู้เรียนถูกนำมาใช้ในการค้นหาและเรียนรู้
ผู้เรียนไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวหรือมีปฏิสัมพันธ์มากนัก
ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์บ่อยขึ้น
การอภิปรายจะถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบความมั่นใจในความรู้ที่เกิดมาจากความจำในเนื้อหาที่ได้เรียนรู้ไป
การอภิปรายถูกนำมาใช้เพื่อสำรวจถึงความหมายจากประสบการณ์และเพื่อนำไปประยุกต์ให้เกิดความรู้ใหม่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชีวิตข้างหน้า

การเรียนการสอนแบบ Active Learning นั้นให้ความสำคัญกับผู้เรียนโดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ให้มากที่สุด โดยครูคำสอนสามารถใช้ เกม บทบาทสมมติ กิจกรรม ใบงาน และการค้นคว้าต่างๆ ซึ่งผู้เรียนจะได้รับติดตัวไม่ใช่เฉพาะความรู้ทางสติปัญญาเท่านั้น
การเรียนแบบ Active Learning นี้เหมาะกับการสอนคำสอนที่ครูคำสอนควรที่จะเรียนรู้และนำไปปฏิบัติ ต่อไปนี้เป็นข้อแนะนำบางประการเพื่อจะได้ช่วยทำให้ครูคำสอนสามารถทำการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
·       ครูควรศึกษาคุณลักษณะของการสอนแบบ Active Learning จากแหล่งความรู้ต่างๆ
·       ฝึกการสอนคำสอนแบบ Active Learning
·       ควรให้เวลาในการฝึกและการเตรียมตัว
·       อย่าแพ้การประจญหรือยกเลิกการสอนแบบ Active Learning ไปเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไม่คุ้นเคย
ตัวอย่างการสอนคำสอนแบบ Active Learning
เรื่อง “ความเคารพต่อมโนธรรมของผู้อื่น” (โรม 14:1-23)
1.  เริ่มการสอนคำสอนโดยให้ผู้เรียนได้คิดในประเด็นที่ว่า “อะไรเป็นสาเหตุให้คนเราต้องทะเลาะกัน”
2.  ให้ผู้เรียนอ่าน โรม 14:1-23 ดังๆ
3.  แบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มละ 4-6 คน แล้วให้แสดงออกมาเป็นแบบบทบาทสมมุติที่สะท้อนให้เห็นแนวทางการอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพต่อกันและกัน
4.  ให้เวลาแต่ละกลุ่มได้ซ้อมและแสดง หลังจาการแสดงเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น และสรุปบทเรียน โดยอ่านพระวาจา โรม 14:1-23 อีกครั้งหนึ่ง



การให้การอบรม ครูคำสอนประจำวัด (Parish Catechists)

การเป็นผู้นำ
·       ผู้นำคือใคร
·       ท่านนำใครและทำไมต้องนำเขา
·       อำนาจการเป็นผู้นำเป็นของใคร
·       ใครบ้างที่เกี่ยวข้องกับงานของท่าน

ไม่ว่าท่านจะได้รับการขอร้องให้เป็นครูคำสอนสำหรับเด็ก เยาวชน หรือสอนผู้ใหญ่ ท่านก็ถือว่าเป็น “ผู้นำ” ของชุมชนหรือวัดของท่าน
ท่านคิดว่าท่านเกิดมาเป็นผู้นำเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรือท่านคิดว่าตัวท่านเองยังมีอะไรที่จะต้องเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำเพิ่มเติมอีกหรือไม่
บางทีท่านอาจจะไม่ได้คิดว่าเมื่อท่านสอนผู้อื่นนั้น ท่านเองกำลังเป็นผู้เรียน หรือเป็นคนหนึ่งที่รวมภาวนา หรือเป็นเพื่อนร่วมทางแห่งความเชื่อ หรือเป็นประกาศกผู้ที่พูดเพื่อพระเจ้าคนหนึ่งก็ได้
คำถามเพื่อการไตร่ตรอง
ถามตัวท่านเองซิว่า ท่านเป็นครูคำสอนแบบไหน จุดเด่นในการทำหน้าที่ของท่านมีอะไรบ้าง
___________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ท่านทำหน้าที่สอนคำสอนในนามของใคร ตัวท่านเอง ผู้บังคับบัญชา พระสังฆราช พระศาสนจักร
________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ถ้าท่านพบพระเจ้าแบบหน้าต่อหน้า ท่านจะพูดกับพระเจ้าอย่างไรถึงเรื่องการสอนคำสอนของท่าน
________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
การเป็นครูคำสอนเป็นกระแสเรียกที่องค์พระจิตเจ้าทรงเรียกท่านมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ พระองค์ทรงสดับฟังคำภาวนาของท่านและประทานพละกำลังให้แก่ท่านในการทำหน้าที่นี้ การภาวนาช่วยให้ท่านเกิดสันติสุข เกิดความเชื่อมั่น และเกิดพลังในยามที่ท่านประสบกับความยุ่งยากลำบากในชีวิตประจำวัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจะทำให้ชีวิตภาวนาของท่านดีขึ้นได้อย่างไร
____________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ขอให้ท่านพิจารณาข้อเสนอแนะเพื่อการทำให้ชีวิตภาวนาของท่านก้าวหน้าขึ้น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1.             เลือกสถานที่ที่เหมาะสมกับท่านในการภาวนา บางคนสามารถภาวนาได้ขณะที่เดินทาง หรือภาวนาได้ทุกสถานที่ แต่อย่างไรก็ดี ถ้าเราต้องการภาวนาโดยไม่มีอะไรมารบกวน เราควรหาสถานที่เงียบๆส่วนตัวเพื่อภาวนา.
2.             เลือกเวลาที่ดีที่สุดของแต่ละวันเพื่อการภาวนา โดยกำหนดเวลาที่แน่นอน
3.             เลือกท่าทางในการภาวนาที่เหมาะสมกับตัวของท่าน บางคนภาวนาได้ดีเมื่อคุกเข่า บางคนอาจจะนั่งบนเก้าอี้ที่สบายๆ
4.             สร้างบรรยากาศที่ดีในการภาวนา ผ่อนคลาย ไม่เครียด รักษาระบบหายใจให้สม่ำเสมอ สงบเงียบ สัมผัสกับพระเจ้าภายใจจิตใจ รับฟังเสียงของพระเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ในจิตวิญญาณของเรา เพราะเราทุกคนต่างเป็นพระวิหารของพระเจ้า (1 โครินธ์ 6:19)
หน้าที่ของครูคำสอนคืออะไร
·        การรับใช้
·        ศาสนบริการบุคคลที่ได้รับการมอบหมายให้ปฏิบัติงานในนามของพระศาสนจักร
·        ฆราวาส หรือ ผู้ที่ได้รับศีลบวช
“ศาสนบริการ” ต่างกับ “อาชีพ” อย่างสิ้นเชิง เราต้องแยกงานทั้งสองออกให้ชัด ศาสนบริการเป็นกระแสเรียกที่ได้รับการเรียกจากพระเจ้า ส่วนอาชีพเป็นงานที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝนด้วยความพยามของตนเอง งานทั้งสองไม่อาจนำมาสลับผลัดเปลี่ยนกันได้ เพราะศาสนบริการเป็นพระพรที่เกี่ยวข้องกับพระหรรษทานหรือการช่วยเหลือจากพระเจ้าซึ่งประทานให้กับเราในการทำหน้าที่เพื่อทำการประกาศข่าวดี
ในศาสนบริการและการรับใช้ที่พระศาสนจักรได้กระทำในสังคมเพื่อการประกาศข่าวดีนั้น ศาสน บริการด้านคำสอนนับได้ว่าเป็นงานที่โดดเด่นและมีความสำคัญ งานคำสอนเป็นงานพื้นฐานของพระศาสนจักรที่จะช่วยทำให้พระศาสนจักรมีชีวิตชีวาและเติบโต(เทียบ CT, 15) ดังนั้น พระสังฆราช พระสงฆ์ สังฆนุกร บิดามารดา นักบวชชายหญิง ฆราวาส และชุมชนคริสตชนคาทอลิกทุกคนต่างมีบทบาทหน้าที่ในศาสนบริการนี้ โดยอาศัยบุคคลเหล่านี้ พระวาจาของพระเจ้าและคำสอนของพระศาสนจักรได้รับการเผยแพร่ออกไปและเป็นประจักษ์พยานให้กับทุกคนจากชนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งตลอดไป (เทียบ ประมวลกฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 773….)
การสอนคำสอนคืออะไร
·        เป็นงานที่สำคัญประการหนึ่งของพระศาสนจักร (GDC, 78) เพราะพระศาสนจักรได้ปฏิบัติสืบทอดจากพันธกิจของพระเยซูคริสต์
·        เป็นงานหนึ่งในกระบวนการสืบทอดความเชื่อคาทอลิกของพระศาสนจักรที่มีชีวิตชีวา (GCD, 13)
·        เป็นการแบ่งปัน/การสอนความเชื่อที่เป็นระบบตามอำนาจการสั่งสอนของพระศาสนจักร(เทียบ CT, 21)
·        การสอนคำสอนต้องเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับพิธีกรรม และศีลศักดิ์สิทธิ์ (GDC, 30)
·        การสอนคำสอน(ที่)ช่วยเพิ่มความเข้าใจในความเชื่อ และทำให้ความเชื่อมั่นคงขึ้น (จะ)ช่วยพัฒนาชีวิตหนึ่งให้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับพระจิตของพระคริสต์ กระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมด้วยใจสมัครและร้อนร้นศรัทธาในการฉลองพระธรรมล้ำลึกในพิธีกรรม และสนับสนุนให้มนุษย์ทั้งหลายมีส่วนร่วมในงานธรรมทูตอย่างกระตือรือร้น(GDC, 84)
·        การทำให้มนุษย์ได้รู้จักพระคริสตเจ้าโดยผ่านทางการสอนของพระองค์ที่ทรงได้มอบหมายให้กับพระศาสนจักร
·        การสอนคำสอนคือมารดาที่นำลูกของตนไปเข้านอนพร้อมกับการหอมแก้มและการทำเครื่องหมายกางเขนให้
·        การสอนคำสอนคือการที่พระสงฆ์ นักบวชได้ให้เวลาเพื่อการให้ความรู้และการแนะนำฝ่ายจิตให้กับบุคคลที่มีความต้องการ
·        การมาร่วมตัวกันของคริสตชนเพื่อไตร่ตรองถึงความหมายของบทอ่านประจำวันอาทิตย์
·        การรวมตัวของเด็กๆที่เรียนคำสอนเพื่อจัดเตรียมพวงมาลาในเทศกาลมหาพรต
·        เป็นการศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกัน.
·        เป็นการรวมตัวกันของผู้ศรัทธาเพื่อเฝ้าศีลมหาสนิทในเวลาพิเศษ นอกเหนือจากพิธีมิสซาฯ
·        การเตรียมตัวเด็กเพื่อการรับศีลมหาสินทครั้งแรก
·        การเตรียมคู่แต่งงาน
·        การที่คู่รักทำเครื่องหมายกางเขนก่อนการรับทานอาหารที่ภัตตาคาร
·        ฯลฯ
·        การเรียนคำสอนเป็นกิจการทุกอย่าง เป็นกิจการที่เราสามารถทำได้เป็นการส่วนตัว ครอบครัว และชุมชนวัด ซึ่งเป็นการช่วยบำรุงหล่อเลี้ยงความเชื่อศรัทธา
สมาชิกอาจจะใช้เวลาเพื่อแบ่งปันความคิดและประสบการณ์ถึงความหมายของคำสอนและงานที่ครูคำสอนกระทำกับเพื่อนๆที่อยู่ใกล้ๆ
__________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
การไตร่ตรองจากพระคัมภีร์
เชิญอ่าน มัทธิว 28:18-20
-          พระเยซูเจ้าทรงมีคำสั่งแก่เราในฐานะที่เป็นสานุศิษย์ของพระองค์
-          พระองค์ทรงบอกเราว่าทำไมเราต้องปฏิบัติ เราต้องปฏิบัติอะไร และปฏิบัติอย่างไร
-          พระองค์ทรงยืนยันกับเราว่าพระองค์จะไม่ให้เราทำของพระองค์แต่เพียงลำพัง
-          ถ้าเราไว้วางใจ เราจะต้องนบนอบพระองค์
ท่านควรวิเคราะห์ข้อความสำคัญนี้ออกเป็นประโยคต่อประโยค เพราะข้อความตอนนี้เป็นหัวใจของศาสนบริการด้านคำสอน คำสั่งนี้จะต้องถูกนำปฏิบัติอย่างจริงจัง นี้ไม่ใช่แค่คำแนะนำ แต่เป็นคำสั่งสำหรับผู้ที่ได้ศีลล้างบาปแล้วทุกคน
ข้อความจากพระคัมภีร์ตอนนี้มีความหมายต่อชีวิตของท่านอย่างไร _______________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ครูคำสอนคือใคร
เชิญอ่าน ลูกา 5:1-11 และ มัทธิว 28:18-20
คริสตชนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วทุกคนถูกเรียกให้เผยแผ่ข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า นั้นก็คือ ได้รับการเรียกให้เป็นครูคำสอนนั้นเอง ส่วนการจะตอบรับกระแสเรียกนี้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน และความมุ่งมั่นที่จะอุทิศตัวของเราอย่างไร
“ข้าวที่จะเก็บเกี่ยวมีมากแต่คนงานมีน้อย” ท่านคุ้นเคยกับคำๆนี้ไหม
เชิญอ่าน มัทธิว 9:37-38
ท่านเป็นคนงานที่ถูกส่งออกไปทำงานโดยพระจิตเจ้าเพื่อจะได้เก็บเกี่ยวข้าวที่มีอยู่เต็มท้องทุ่ง
ท่านพร้อมแล้วหรือยัง ?????????
ทำไมจึงต้องมีการสอนคำสอน
ณ หัวใจของการสอนคำสอน ก็คือ วิธีการที่ชุมชนคริสตชนเสริมกำลังให้สมาชิกของตนเอง ให้รู้จัก( to know) รัก (to love) และรับใช้(to serve) องค์พระผู้เป็นเจ้า หมายความว่า ครูคำสอนและผู้เรียนคำสอนจะต้องให้เวลาเพื่อไตร่ตรองว่าพระเจ้าทรงเรียกให้เรามา รู้จัก รัก และรับใช้พระองค์ ในเวลาและสถานที่เฉพาะที่เราอยู่นี้ได้อย่างไร เราคิดถึงพระวาจาของพระเจ้าในเรื่องที่นักบุญลูกาพูดถึงการทำงานแพร่ธรรมใน ลูกา 10:1-24 
พระเยซูเจ้าทรงส่งสานุศิษย์ออกไปเป็นคู่ๆ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เพื่อเป็นประจักษ์พยานถึงความจริงโดยการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันของพวกเขา และเพื่อเป็นนำความรักและสันติสุขของพระเจ้าไปมอบให้กับคนอื่น ท่านเองอาจจะไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ออกไปทำงานเป็นคู่ๆ แต่ท่านเองสามารถที่จะพูดคุยกับผู้เรียนของท่านเพื่อจะได้แสวงหาวิธีที่จะรู้จัก รัก และรับใช้พระเจ้าในชีวิตประจำวันด้วยบริบทที่ท่านดำรงชีวิตอยู่
เพื่อรู้จักพระเจ้า
เพื่อรักพระเจ้า
เพื่อรับใช้พระเจ้า
หัวใจของเราจะไม่ได้พักจนกว่าจะได้พำนักอยู่กับพระองค์
St. ออกุสติน
ทุกอนูของชีวิตของเรามีพื้นที่ว่างสำหรับผู้อื่นเสมอ

เรามองไปรอบๆตัวเราเพื่อจะได้รับใช้ผู้อื่น

เชิญอ่าน มัทธิว 25:31-40
เราจะรับใช้องค์พระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร
เชิญใช้เวลาเพื่อไตร่ตรองข้อความจากพระคัมภีร์ตอนนี้และบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้น
_______________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ก้าวต่อไปให้ลึกขึ้น
ศึกษาข้ออ้างอิงต่อไปนี้
โปรดอ่านด้วยความตั้งใจและไตร่ตรองข้อความแต่ละข้ออย่างละเอียด
จงสอนเหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงสอน
·       การศึกษาอบรมแบบคาทอลิก คือ การปฏิบัติพันธกิจตามที่พระเยซูคริสต์ทางมอบหมายให้แก่พระศาสนจักรที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้น โดยอาศัยการศึกษาอบรม พระศาสนจักรได้แสวงหาวิธีการที่จะตระเตรียมสมาชิกของตนเพื่อทำการประกาศข่าวดีและแปลการประกาศข่าวดีนี้ให้ออกมาเป็นกิจกรรม
ท่านจะช่วยให้เป้าหมายนี้บรรลุผลสำเร็จได้อย่างไร
__________________________________________________________________________
__________________________________________________________________________
จงสอนเหมือนที่พระเยซูเจ้าทรงสอน.
·       พันธกิจของพระศาสนจักรเป็นงานที่ผสมผสานระหว่างงานหลัก 3 ประการ คือ การประกาศข่าวดีที่พระเจ้าทรงเผยแสดง (Didache) การดำเนินชีวิตในชุมชนคริสตน (Koinonia) และการรับใช้ชุมชน คริสตชนและมวลมนุษย์ชาติ (Diakonia). แม้ว่าทั้งสามพันธกิจหรือสามมิติของงานพระศาสนจักรจะแยกจากกันตามหลักวิชาการ แต่ทั้งหมดคืองานที่เป็นการรับใช้ของพระศาสนจักรด้วยกัน
ท่านคิดว่าท่านกำลังทำงานรับใช้พระเจ้าในมิติหรือด้านใด ท่านสามารถประยุกต์ข้อความจาก ประโยคข้างต้นนี้กับชีวิตของท่านได้อย่างไร
__________________________________________________________________________
__________________________________________________________________________
คู่มือครูคำสอน ข้อ 8
·        งานของครูคำสอนเกี่ยวกับบุคคลทั้งครบของครูคำสอน ก่อนที่พวกเขาจะเทศน์สอนพระวาจา พวกเขาต้องทำให้พระวาจาเป็นของเขาเองและดำเนินชีวิตด้วยพระวาจา
ท่านได้ดำเนินชีวิตด้วยพระวาจาอย่างไร พระวาจาตอนไหนที่เป็นแรงบันดาลให้กับชีวิตของท่าน
__________________________________________________________________________
__________________________________________________________________________
__________________________________________________________________________
คู่มือแนะแนวทั่วไปสำหรับการสอนคำสอน (GDC, 234.)
·       “งานอภิบาลในรูปแบบใดๆก็ตามจะไม่อาจเกิดผลดีใดๆได้เลยหากไม่อาศัยบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมและมีความสามารถที่แท้จริง...การฝึกอบรมครูคำสอน...ไม่อาจละเลยเรื่องที่สำคัญต่างๆเช่น การปรับเนื้อหาเอกสารต่างๆให้ทันสมัยขึ้น การจัดระบบการสอนในรูปแบบใหม่”
คู่มือครูคำสอน (เทียบ คู่มือครูคำสอน ข้อ 6)
·       ครูคำสอนได้รับการเรียกร้องให้พัฒนาความเชื่อของตนอยู่ตลอดเวลา ด้วยเหตุผลครูคำสอนถูกเรียนร้องให้มีการพัฒนาชีวิตจิตอย่างต่อเนื่อง
นอกจากชีวิตฝายจิตแล้ว ครูคำสอนจำเป็นต้องรู้จักศาสตร์การสอนและการฝึกอบรมต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ นี้หมายความว่าครูคำสอนจะต้องได้รับการฝึกอบรมที่ชัดเจนและสม่ำเสมอ ท่านคิดว่าท่านการเข้ารับฝึกอบรมในเรื่องคำสอนในโอกาสต่างๆเป็นเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์ต่อตัวของท่านมากน้อยแค่ไหน
__________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
สรุปการไตร่ตรองของเราในครั้งนี้
การสอนคำสอนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง
·        ความเชื่อศรัทธา
·        การฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ
·        การส่งเสริมสนับสนุนความเชื่อ
·        การเติบโตของชีวิตฝ่ายจิต
·        การพัฒนาทักษะ
·        การเป็นประจักษ์พยาน
·        การเสียสละ
·        ความอดทนเข้มแข็ง
·        ฯลฯ

ให้ท่านพิจารณาถ้อยคำที่ให้ไว้ข้างต้น แล้วให้ความหมายการสอนคำสอนด้วยถ้อยคำของท่านเอง
_______________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
พระคัมภีร์และการสอนคำสอน
นักบุญเยโรมกล่าวไว้ว่า “…การไม่รู้จักพระคัมภีร์คือการไม่รู้จักพระคริสตเจ้า” ดังนั้น เพื่อที่จะได้รู้จักพระเยซูคริสตเจ้าเราจะต้องอ่านพระคัมภีร์ให้มากขึ้น ท่านได้ใช้เวลาในการอ่านและศึกษาพระคัมภีร์บ่อยครั้งแค่ไหน ท่านได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่เกี่ยวกับพระคัมภีร์บ้างหรือไม่...ยังไม่สายเกินไปที่เราจะเรียนรู้พระคัมภีร์
·       ท่านคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
·       ท่านคิดว่าท่านมีคุณสมบัติที่จะสอนคำสอนหรือไม่
·       ท่านมีเวลาเตรียมตัวในการสอนอย่างดีหรือไม่
·       ท่านสอนอะไรให้กับผู้เรียน ตัวท่านเองเป็นแบบอย่างหรือไม่
·       ท่านจะทำอย่างไรกับเรื่องที่ท่านไม่แน่ใจ หรือไม่รู้ว่าจะสอนอย่างไร
พันธกิจพื้นฐานของการสอนคำสอน (GDC, 85)
·        ส่งเสริมความรู้เรื่องความเชื่อศรัทธา
·        ให้การศึกษาเรื่องของพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์
·        ให้การฝึกอบรมเรื่องศีลธรรม
·        การสอนเรื่องการภาวนา
·        การให้การฝึกอบรมเรื่องการดำเนินชีวิตในหมู่คณะ
·        การฝึกให้เป็นธรรมทูต

·        การส่งเสริมความรู้เรื่องของความเชื่อศรัทธาหมายความว่ายิ่งคนหนึ่งได้รู้จักพระเจ้ามากเท่าใด เขายิ่งต้องการที่จะรู้จักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการสอนคำสอนจะต้องนำผู้เรียนให้ค่อยๆรู้จักพระเจ้าว่าพระองค์คือใคร และเราจะดำเนินชีวิตตามแผนการแห่งความรอดพ้นจากบาปในโลกนี้ได้อย่างไร
·        การศึกษาเรื่องพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้เราตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระเยซูคริสต์เจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เราเข้าร่วมพิธีศีลมหาสนิท
·        การฝึกอบรมเรื่องศีลธรรมนั้น การกลับใจหรือการเปลี่ยนแปลงชีวิตคือการเรียนรู้การดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระเจ้า ทั้งนี้เพราะพระองค์ทรงเป็น “หนทาง ความจริง และชีวิต” ซึ่งแนวทางในการดำเนินชีวิตในพระคริสต์เจ้านั้นสรุปอยู่ในพระบัญญัติ 10 ประการและคำสอนเรื่องความสุขแท้หรือบุญลาภ 8 ประการ และค่านิยมแห่งพระวรสารต่างๆ
·        การฝึกอบรมเรื่องการภาวนา บทบาทแรกในการเริ่มต้นชีวิตภาวนาของเด็กขึ้นอยู่กับพ่อแม่ ทั้งโดยธรรมชาติและการสอนอย่างเป็นทางการ แต่ครูคำสอนสามารถช่วยเด็กๆให้รู้จักการสวดภาวนาด้วยความรู้สึก แห่งการมนัสการ สรรเสริญ ขอบพระคุณ และขอขมาโทษ ซึ่งความรู้สึกเช่นนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนสานุศิษย์ให้สวดบทข้าแต่พระบิดาฯ นั้นเอง
·        การให้การศึกษาเรื่องการใช้ชีวิตในหมู่คณะเป็นเรื่องที่พูดถึงความจำเป็นเพื่อการเรียนรู้ชีวิตทางสังคมและค่านิยมของสังคม เช่น การเคารพสิทธิของผู้อื่น การใช้อำนาจ การทำเพื่อความดีของส่วนรวม การให้อภัย และความรักฉันพี่น้อง การสอนคำสอนจะให้ความสำคัญกับเรื่องของศาสนสัมพันธ์และเสรีภาพในการนับถือศาสนา ส่งเสริมให้เกิดความเคารพและความรักกันฉันพี่น้องต่อเพื่อนพี่น้องในศาสนาและนิกายต่างๆ
·        คำสอนเพื่อส่งเสริมงานธรรมทูต เป็นการสนับสนุนและฝึกอบรมเพื่อให้ศิษย์ของพระเยซูเจ้าดำเนินชีวิตที่ดีในสังคมเพื่อเป็นการประกาศศาสนาด้วยการดำเนินชีวิตที่ดี และด้วยคำพูดที่เหมาะสม
พันธกิจข้อใดที่ท่านสามารถกระทำได้ดีที่สุด งานใดที่ท่านยังรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีนัก งานด้านใดที่ท่านต้องการการพัฒนา เชิญพูดคุยกับผู้นำของท่าน หรือคุยกับเพื่อนๆของท่าน
____________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
ข้อแนะนำในการสอนคำสอน
โปรดจำให้ขึ้นใจ
·       จงภาวนา
·       จงรู้จักจุดดีในการสอนของท่าน
·       จงรู้จักผู้เรียนของท่าน
·       จงใช้เทคนิคการสอนที่หลายหลาก
·       จงใช้อุปกรณ์การสอนที่เหมาะสมกับเรื่อง
·       จงภาวนา

และพูดอีกนัยหนึ่งคือ....
-          จงนำเอาจุดเด่นของท่านออกมาใช้ในการสอนคำสอน
-          จงรู้ถึงความสามารถและข้อบกพร่องของนักเรียนของท่าน
-          จงดึงเอาจุดเด่นของผู้เรียนออกมาใช้เพื่อส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น
-          ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นพวกเขาต้องการรูปแบบการสอนที่แตกต่างกัน
-          การเตรียมการสอนและการภาวนาเพื่อของพระจิตเจ้าทรงนำทางเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด


เชิญเขียนข้อตั้งในของท่านเพื่อการสอนคำสอนที่ดีกว่า
เชิญให้ความเห็นกับคำถามต่อไปนี้
1.             พระพรที่ท่านสามารถนำมาใช้ในการสอนคำสอนของท่านคืออะไร
______________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
2.             ฉันจะใช้พระพรต่างๆที่ฉันมีในการเป็นครูคำสอนได้อย่างไร
_______________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
3.             การเป็นครูคำสอนสำหรับตัวฉันเองหมายความว่าอย่างไร
_______________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________________
* โปรดแบ่งปันคำตอบของท่านกับผู้นำหรือผู้รับผิดชอบงานคำสอนของท่าน

ขอบคุณผู้ร่วมงานที่ดีของพระเจ้า
เมื่อมีข้อสงสัยประการใด ให้อ่าน มัทธิว 25:14-30