วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556


ความหมายของการสอนคำสอนสำหรับครูคำสอนมือใหม่
ก่อนที่ผมจะอธิบายถึงความหมายของการสอนคำสอน(การสอนคริสตศาสนธรรม) ผมต้องขอแสดงความชื่นชมและกตัญญูรู้คุณต่อบรรดาครูคำสอนทุกท่านที่ได้อาสาสมัครมาทำงานรับใช้พระเจ้าด้วยความยินดี ครูคำสอนเป็นบุคคลสำคัญของพระศาสนาเพราะอาศัยพวกท่านเหล่านี้ จึงทำให้เด็กและเยาวชนของเราได้รู้จักพระเจ้าและคำสั่งสอนของพระองค์
คำว่าการสอนคำสอน ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “catechesis” ซึ่งมาจากภาษากรีกที่หมายถึง  “การสะท้อนเสียง” (to echo, or to resound) ผู้สอนคำสอน(catechist) เป็นผู้สะท้อนหรือส่งต่อความเชื่อที่พวกเขามีอยู่ภายในตนเองไปให้ผู้อื่น ดังนั้นหน้าที่สำคัญประการแรกของผู้สอนคำสอน คือ การที่พวกท่านจะต้องพัฒนาความเชื่อของตนเองให้เข้มแข็ง ร้อนรน โดยอาศัยการฝึกอบรมตนด้วยวิธีการต่างๆทั้งโดยส่วนตัวและโดยหมู่คณะ ด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมทั้งวิชาการและการฝึกปฏิบัติ การเข้าเงียบฟื้นฟูจิตใจในรูปแบบต่างๆ(retreats) การอ่านพระคัมภีร์และหนังสือบำรุงจิตใจ การภาวนาและการร่วมพิธีกรรม
ผมอยากจะเน้นว่าการสอนคำสอนมิใช่แค่การเรียนจากตำราและการท่องหรือจดจำ เพราะ เป้าหมายของการเรียนคำสอนไม่ได้มุ่งหมายให้ผู้เรียนของเราจดจำบทภาวนาหรือข้อคำสอน จนสามารถตอบคำถามต่างๆได้อย่างเชี่ยวชาญ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีความจำเป็นแต่ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องรอง เป้าหมายประการแรกของการเรียนหรือการสอนคำสอนก็คือ “การสร้างศิษย์ของพระเยซูคริสต์เจ้า” (to form disciples of Jesus)  เราในฐานะผู้สอนคำสอนจะต้องแบ่งปันความเชื่อของเราให้กับผู้เรียนของเรา เพื่อให้พวกเขามีความผูกพันยิ่งทียิ่งแน่นแฟ้นกับพระเยซูเจ้า การรู้คำสอนจึงหมายถึงการมีความสัมพันธ์ มากกว่าแค่ความรู้ที่ถามมาแล้วก็ตอบไปเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้คู่มือแนะแนวทั่วไปสำหรับการสอนคำสอน(1997) ได้ยืนยันถึงเป้าหมายของการสอนคำสอนไว้ว่า “เป้าหมายสุดท้ายอันสมบูรณ์ที่สุดของการสอนคำสอน มิใช่เพียงแนะนำมนุษย์ให้ได้มาสัมผัสกับองค์พระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น แต่จะต้องให้เขาได้ร่วมสัมพันธ์กับพระองค์อย่างแน่นแฟ้น”(คู่มือฯข้อ 80)
เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายสำคัญประการนี้ คู่มือฯ ได้ระบุถึงหน้าที่ของการสอนคำสอนไว้ 6 ประการด้วยกัน คือ การให้การศึกษาเรื่องความเชื่อ (faith education) การศึกษาและการปฏิบัติเรื่องพิธีกรรม (liturgical education and practice) การฝึกอบรมเรื่องศีลธรรม (moral formation) การมีชีวิตภาวนา (prayer) การมีชีวิตหมู่คณะ (community life) และการศึกษาเรื่องงานธรรมทูต (missionary education) (เทียบ คู่มือ, 1997 ข้อ 84-86)
ดังนั้น การเป็นผู้สอนคำสอนเรียกร้องให้เราต้องสอนเรื่อง ความเชื่อ การปฏิบัติศาสนกิจ การภาวนา การทำให้ผู้เรียนของเราได้รับการฝึกอบรมเรื่องศีลธรรมจรรยา ให้พวกเขามีชีวิตที่เป็นหมู่คณะ โดยการเข้าสังกัดกลุ่มต่างๆ การเป็นสมาชิกที่เข้มแข็งของวัด และสุดท้ายคือการมีจิตใจที่เป็นธรรมทูตพร้อมที่จะพูดคุยและแบ่งปันความเชื่อให้กับผู้อื่นได้
เราจะสอนเรื่องความเชื่อก็โดยแบ่งปันคำสอนจากพระคัมภีร์และธรรมประเพณีของพระศาสนาจักรให้กับศิษย์ของเรา
เราเข้าร่วมพิธีกรรมเมื่อทางวัดได้จัดพิธีกรรมตามวันฉลองต่างๆที่พระศาสนจักรได้กำหนดไว้ เราสามารถที่จะนำเอาพิธีกรรมต่างๆมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้นเรียน เพื่อให้ศิษย์ของเราได้ทราบถึงความหมายของบทสวดและสัญลักษณ์ที่ใช้ในพิธีกรรมต่างๆนั้น เราอาจจะพาศิษย์ของเราไปแสวงบุญหรือเยี่ยมชมวัดต่างๆเพื่อให้พวกเขาได้เห็นภาพรวมของการเฉลิมฉลองแบบชีวิตคริสตชน
เราฝึกหัดการภาวนาโดยการร่วมกันสวดภาวนาพร้อมๆกันในช่วยเวลาต่างๆ เราควรที่จะใช้การสวดภาวนาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการภาวนาแบบการใช้บทภาวนาทางการที่พระศาสนจักรกำหนดให้ การภาวนาจากใจ การรำพึง การภาวนาเร้าวิงวอน การภาวนาของมวลชน การสวดสายประคำ การเดินรูป 14 ภาพ ฯลฯ
เราให้การเสริมสร้างมโนธรรมทางศีลธรรมให้กับศิษย์ของเราโดยผ่านการพูดคุยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา นำเอาเรื่องเหล่านั้นมาวิเคราะห์ โดยใช้คำสอนจากพระคัมภีร์และคำสอนของพระศาสนจักรเป็นหลักในการวินิจฉัย
เรานำศิษย์ของเราให้มีชีวิตหมู่คณะ ให้มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ โดยการสอนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร ประวัติของสังฆมณฑลและของวัด ส่งเสริมให้ศิษย์ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มหรือองค์กรต่างๆที่วัดได้จัดตั้งขึ้น จัดให้ศิษย์ได้มีโอกาสร่วมรับผิดชอบในงานหนึ่งงานใดของวัดหรือสังฆมณฑล
เราฝึกให้ศิษย์ของเราได้มีจิตวิญญาณของการเป็นธรรมทูตหรือผู้แพร่ธรรมโดยการส่งเสริมให้พวกเขาได้รู้จักกับมิชชันนารีหรือฆราวาสแพร่ธรรมต่างๆที่กำลังทำงานอยู่ในสถานที่ต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เรียนรู้เกี่ยวกับงานของพระศาสนจักรในดินแดนต่างๆ ให้อ่านข่าวพระศาสนจักรจากระเทศต่างๆ ให้ศึกษาประวัตินักบุญธรรมทูตต่างๆ และด้วยการจัดโปรแกรมการออกพื้นที่เพื่อการพบปะกับผู้คนที่นับถือศาสนาอื่นๆ
ที่สุด ผมอยากจะสรุปว่าสิ่งที่สำคัญของการสอนคำสอนคือการนำผู้เรียนให้มีชีวิตที่ชิดสนิทกับพระเยซูเจ้า งานสอนคำสอนมิใช่แค่การรู้จากตำราเท่านั้น บทบาทของผู้สอนคำสอนก็คือการถ่ายทอดไฟแห่งความศรัทธาที่ตัวของท่านเองมีต่อพระเยซูคริสต์ไปสู่ศิษย์ของท่านนั้นเอง